โรคหัวใจในเด็ก เรื่องใหญ่ของหัวใจดวงน้อย แม้ว่าวัยเด็กจะไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจ แต่โรคหัวใจในเด็กสามารถส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพัฒนาการและคุณภาพชีวิต การทำความเข้าใจโรคหัวใจในเด็กตั้งแต่สาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โรคหัวใจในเด็กสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก 1. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) เป็นโรคหัวใจที่เด็กเกิดมาพร้อมกับความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจหรือหลอดเลือด เช่น รูรั่วในผนังหัวใจ ลิ้นหัวใจตีบ หรือหลอดเลือดผิดปกติ ซึ่งสามารถตรวจพบโดยแพทย์ตั้งแต่ก่อนคลอด หลังคลอด หรือตรวจพบเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ในกรณีที่ตรวจพบเมื่อเป็นผู้ใหญ่อาจมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถผ่าตัดได้ แต่โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิดก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่ต้องรักษา เพียงแต่ต้องดูแล ระวัง และป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น ลิ้นหัวใจตีบเล็กน้อย รูในผนังหัวใจขนาดเล็ก เป็นต้น 2. โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired Heart Disease) เป็นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นหลังจากเด็กเกิดแล้ว เช่น โรคหัวใจรูห์มาติก ที่เกิดจากไข้รูห์มาติก ทำให้มีลิ้นหัวใจรั่ว และ/หรือตีบ โรคไข้คาวาซากิ ซึ่งมักพบในเด็กเล็ก อาจทำให้มีเส้นเลือดหัวใจโคโรนารีโป่งพอง โรคลิ้นหัวใจจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเกือบทุกชนิดอาจเป็นสาเหตุการอักเสบของหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ที่นำไปสู่การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งในบางรายอาจเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ…